วันอาทิตย์, 29 ธันวาคม 2567

MIS News (ฉบับที่ 54) 5 เหตุผล ที่องค์กรต้องทำระบบ Cybersecurity

02 มี.ค. 2023

ภัยไซเบอร์’ ความน่ากลัวที่มาพร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลที่ทุกองค์กรไม่อาจมองข้ามได้ การเตรียมพร้อมรับมืออย่างรัดกุม จึงเป็นหนทางในการป้องกันความเสียหายที่ดีที่สุด

1. เพื่อปกป้องข้อมูลขององค์กรและข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางทุจริต

การสร้างระบบ Cybersecurity ที่รัดกุมและครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน ไปจนถึงการวางแผนระยะยาว คือส่วนสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถสกัดกั้นการโจมตีจากแฮกเกอร์ก่อนที่จะเข้ามาขโมยข้อมูลและนำไปใช้ในทางทุจริต ไม่ว่าจะเป็นการเข้าระบบเพื่อโจมตีให้ข้อมูลเสียหาย การขโมยข้อมูลลูกค้าไปขายหรือใช้ในการหลอกลวงเพื่อสร้างความเสียหายต่อบุคคล การนำข้อมูลไปใช้ปลอมแปลงเพื่อการทำธุรกรรม รวมทั้งการโจรกรรมข้อมูลเพื่อเรียกค่าไถ่ (Ransomware) เป็นต้น ซึ่งองค์กรควรมีการวางแนวทางและเตรียมความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยี นโยบายขององค์กร และพนักงานในองค์กร เพื่อให้ระบบ Cybersecurity ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

2. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายและชื่อเสียงขององค์กร
หากองค์กรถูกโจมตีทางไซเบอร์ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมานั้น คือความเสียหายทางด้านค่าใช้จ่ายที่อาจมีมูลค่ามหาศาล อย่างเช่น การโจรกรรมข้อมูลเพื่อเรียกค่าไถ่ด้วยวิธีการแอบลักลอบขนข้อมูลออกไปและติดตั้งมัลแวร์เพื่อเข้ารหัสข้อมูลไม่ให้เจ้าของข้อมูลสามารถใช้งานได้หากไม่ยอมจ่ายเงิน ที่เรียกว่า Ransomware หรืออาจเกิดค่าใช้จ่ายในการกู้คืนข้อมูลที่สูญหายไป รวมไปถึงความเสียหายในด้านชื่อเสียงขององค์กร ที่ประเมินค่าเป็นตัวเลขชัดเจนไม่ได้ แต่เรียกได้ว่าเป็นความเสียหายที่รุนแรงไม่แพ้กัน ซึ่งส่งผลให้องค์กรถูกมองในทางลบทั้งต่อผู้ลงทุน ลูกค้า รวมถึงพนักงานในองค์กรเอง การทำระบบ Cybersecurity จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเหล่านี้ได้

3. เพื่ออุดช่องโห่วการป้องกันด้วยระบบสารสนเทศขั้นพื้นฐานรูปแบบเดิม ๆ ที่ไม่เพียงพอในการป้องกันภัยไซเบอร์สมัยใหม่
มาตรการทางสารสนเทศ (IT Policy) คือมาตรฐานในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นเกราะป้องกันภัยขององค์กรที่มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีการพัฒนารูปแบบการโจมตีที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้การป้องกันเพียงระบบสารสนเทศขั้นพื้นฐาน (Infrastructure Protection) เช่น การติดตั้ง Firewall, การแยก Zone ของระบบเครือข่าย อาจดีไม่เพียงพอสำหรับโลกในยุคปัจจุบันและเป็นช่องโหว่ให้เกิดการโจมตีได้ ซึ่งองค์กรควรวางระบบป้องกันที่ครอบคลุมมากขึ้น ตั้งแต่ระบบตรวจจับมัลแวร์หรือไวรัสที่ครอบคลุมทั้งระบบขององค์กร เช่น Antivirus, EDR (Endpoint Detection and Response) ระบบรวบรวมข้อมูลบันทึกและแจ้งเตือนจากอุปกรณ์ในองค์กรเพื่อการป้องกันและแจ้งเตือนที่ดียิ่งขึ้น เช่น SIEM (Security incident and event management)

4. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและพันธมิตรที่ร่วมงานกับองค์กร
สถิติการเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ค่อนข้างสูงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้องค์กร หน่วยงาน รวมถึงประชาชนเอง ต่างเกิดความกังวลและเกิดคำถามว่าข้อมูลที่หมุนเวียนอยู่ในโลกดิจิทัลนั้นถูกปกป้องอย่างดีแล้วหรือยัง ดังนั้นองค์กรและธุรกิจจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในข้อมูลให้ได้มากที่สุด ผ่านการวางระบบ Cybersecurity ที่ชัดเจนและได้ประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรทางธุรกิจและลูกค้าผู้ใช้บริการที่ร่วมเดินทางไปพร้อมกับองค์กร

5. ปฏิบัติตามพรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA คือข้อสำคัญที่ทำให้องค์กรต้องวางระบบความปลอดภัยในข้อมูล เพื่อดูแลและปกป้องข้อมูลของลูกค้า ข้อมูลผู้ใช้งาน หรือข้อมูลพนักงานในองค์กรให้ได้ประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด เพราะถ้าหากองค์กรหรือหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามจะทำให้เกิดบทลงโทษกฎหมาย ซึ่งมีทั้งโทษทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง จึงเป็นเหตุผลให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องตระหนักและเพิ่มมาตรการการรักษาข้อมูล เพื่อป้องกันความเสียหายทั้งต่อบุคคล องค์กร และความเสียหายทางด้านโทษทางกฏหมาย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: blendata.co