จากวิกฤติชิปเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนไปทั่วโลกตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ กลายเป็นปัญหาใหญ่แก่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี สาเหตุเกิดจากอะไร มีวงการไหนที่ได้รับผลกระทบ และใครบ้างที่ได้ผลประโยชน์
‘ปัญหาชิปขาดแคลน’ เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเมื่อไหร่จะจบ !?
ไม่ว่าจะอยู่ในวงการเทคโนโลยีหรือไม่ ‘ปัญหาชิปขาดแคลน’ เหมือนจะเป็นเรื่องที่สำคัญและสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างหนักหน่วงมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะกับผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่ราคาสินค้าเทคโนโลยีต่างพากันปรับตัวสูงขึ้นอย่างหนัก แต่ว่าเรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครได้ประโยชน์ แล้วเมื่อไหร่เรื่องทั้งหมดนี้มันจะจบลงกันได้นะ
ปัญหาชิปขาดแคลนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุหลักของวิกฤตการณ์เซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนทั่วโลกเกิดจากการรวมกันของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้วเกิดผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นแบบสโนว์บอล (snowball effect) ซึ่งเหตุการณ์หลักๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาชิปขาดแคลนคือ
การระบาดของโควิด-19
ตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น ทำให้ผู้คนต้องเริ่มทำงานที่บ้าน (Work From Home) เมื่อการทำงานที่บ้านเป็นเรื่องจำเป็น ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้เรียน หรือทำงานก็ต้องอัปเกรดไปด้วย คนก็เลยซื้อคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ตเพิ่มขึ้น เกิดเป็นอุปสงค์ที่สูงมากในเวลาอันสั้น จากข้อมูลแล้ว ยอดขายชิปที่ต้องใช้สารกึ่งตัวนำหรือเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) จากที่เคยลดลงในปี 2561 – 2562 กลับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2563 – 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2564 ที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 26% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2563 แล้ว แม้แต่บริษัทผู้ผลิตเองก็ต้องเจอกับล็อกดาวน์เช่นเดียวกัน การผลิตชิปเหล่านี้ก็ช้าลงไปด้วย
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีน
ในเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ได้เกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ (United States Department of Commerce) ได้กำหนดข้อจำกัดสำหรับผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น (Semiconductor Manufacturing International Corporation – SMIC) ซึ่งทำให้การค้าขายระหว่างบริษัทผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ของจีนกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ในสหรัฐ ซื้อขายกันยากขึ้นมาก จนเหมือนบังคับให้บริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ต้องซื้อขายกับบริษัทอื่นนอกจีน อย่างบริษัทผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) และซัมซุง (Samsung) เท่านั้น ทำให้บริษัทผลิตไม่ทัน
นอกจากนี้สงครามการค้านี้ยังทำให้เกิดภาวะไม่แน่นอนของผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จีน ที่กังวลว่าจะถูกแบนแบบหัวเว่ย จึงมีการกักตุนสต็อกชิปที่ต้องใช้งานเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจ
อย่างสุดท้ายก็คืออุตสาหกรรมยานยนต์ ความต้องการชิปนี้ไม่ใช่แค่จะเกิดขึ้นในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เท่านั้นนะ แต่ในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทผลิตรถยนต์ต่างมีความต้องการชิปเหล่านี้เช่นเดียวกัน เพื่อพัฒนาระบบภายในรถยนต์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ระบบช่วยจอดรถ ระวังการถูกชนด้านข้าง ระบบล็อกความเร็วคงที่ตามความต้องการของผู้ขับขี่และสัมพันธ์กับรถยนต์ด้านหน้า (Adaptive Cruise Control) เป็นต้น ไปจนถึงระบบใหม่ล่าสุดอย่างระบบขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Driving) ทำให้ชิปเหล่านี้ขาดตลาดยิ่งกว่าเดิม ซึ่งปัญหาชิปขาดแคลนนี้ทำให้รถบางรุ่นต้องพักสายการผลิต เพราะไม่สามารถหาชิปมาผลิตรถได้ เมื่อผลิตรถยนต์ที่มีระบบใหม่ๆ เหล่านี้ได้น้อย ก็จะได้ยอดขายที่น้อยไปด้วย และพัฒนาช้าลงไปอีก
แล้วเรื่องนี้ ใครกันล่ะที่ได้ประโยชน์ ?
ปัญหาชิปขาดแคลนนี้ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียเท่านั้นนะ เพราะว่าบริษัทผลิตชิปทั้ง 2 เจ้าใหญ่ ต่างได้รับประโยชน์กันทั้งคู่ สามารถขยายตัวได้อย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างเช่นที่ TSMC กำลังจะขยายฐานการผลิตไปที่ญี่ปุ่นด้วย
ในขณะเดียวกัน ก็เกิดการแข่งขันในวงการผู้ผลิตชิปมากขึ้น จนทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่มากขึ้นอีกด้วย เช่นเทคโนโลยี CPU ขนาด 5nm หรือ 3nm ในอนาคต ซึ่งทั้ง TSMC และซัมซุงก็ต่างต้องแย่งลูกค้ากันไปมาอย่างหนัก อย่างเช่นกรณีที่ เอเอ็มดี อาจจะย้ายไปจ้างให้ซัมซุงผลิตชิปให้แทนเพราะว่าซัมซุงให้ราคาค่าผลิตที่ดีกว่า เป็นต้น
สุดท้ายแล้ว แม้ว่าปัญหานี้จะสร้างความลำบากให้กับคนในหลายๆ ภาคส่วน แต่ดูท่าแล้วเรื่องปัญหาชิปขาดแคลนนี้ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าได้มากขึ้นก็ได้ ไม่มากก็น้อย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก แบไต๋