วันเสาร์, 26 กรกฎาคม 2568

GHG : Greenhouse Gas Ep.1 ทำความรู้จักก๊าซเรือนกระจก

24 ก.ค. 2025

ก๊าซเรือนกระจก คือ กลุ่มก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกที่มีคุณสมบัติในการดูดซับและกักเก็บความร้อน หรือรังสีอินฟราเรดที่สะท้อนกลับจากพื้นผิวโลกทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งช่วยรักษาอุณหภูมิของโลกให้อบอุ่นและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม ก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินไปก็เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

7 ก๊าซเรือนกระจก ที่ถูกควบคุมภายใต้พิธีสารเกียวโต

1. คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) : CO2 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศและมีอิทธิพลต่อการเกิดการสะสมพลังงาน ความร้อนในชั้นบรรยากาศมากที่สุด เนื่องจากเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณมาก และสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันมนุษย์กลายมาเป็นตัวการหลักในการสร้าง และปล่อย CO2 ซึ่งเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น การเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นพลังงาน นอกจากนี้การตัดไม้ทำลายป่า ยังเป็นสาเหตุให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย

2. มีเทน (Methane) : CH4 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากเป็นลำดับที่ 2 เป็นก๊าซที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ร้อยละ 60 ใน บรรยากาศเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทิ้งขยะด้วยวิธีฝังกลบ การทำฟาร์มปศุสัตว์ มูลสัตว์ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการทำเกษตรกรรม การบำบัดน้ำเสีย และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากถึง 27 เท่า

3. ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) : N2O เป็นก๊าซอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า ฟ้าแลบ ภูเขาไฟระเบิด รวมถึงการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ แต่ในช่วงยุคอุตสาหกรรม มนุษย์ได้เพิ่มก๊าซชนิดนี้เข้าไปอีกประมาณร้อยละ 17 จากอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริกในกระบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมเคมี พลาสติกบางชนิด การใช้ปุ๋ย การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งการเผาป่า ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 273 เท่า

4. กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน : (HFCs) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น ใช้ในระบบทำความเย็นต่าง ๆ และเป็นสารที่ถูกนำมาใช้แทนก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) ซึ่งเป็นสารที่ใช้อยู่ในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น สเปรย์ และน้ำยาดับเพลิง มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนที่สูงมากและทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 124 ถึง 14,800 เท่า

5. กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน : (PFCs) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยถูกใช้เป็น ตัวทำละลายและสารตั้งต้นในการผลิต รวมถึงผลผลิตพลอยได้จากกระบวนการต่าง ๆจากภาคอุตสาหกรรม เช่น การถลุงอะลูมิเนียม การผลิตสารกึ่งตัวนำ มีศักยภาพในการกักเก็บ ความร้อนที่สูงมากและทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 7,390 ถึง 12,200 เท่า

6. ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulfur hexafluoride) : SF6 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ มีคุณสมบัติไม่ละลายในน้ำ แต่ละลาย ในตัวทำละลาย นิยมใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นำมาใช้เพื่อเป็นฉนวนไฟฟ้าป้องกันการเกิดประกายไฟจากอุปกรณ์สวิทช์ไฟฟ้าแรงสูง หรือช่วยในการระบาย ความร้อนจากอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง เช่น สวิตช์เกียร์ ซึ่ง SF6 สามารถส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 24,300 เท่า

7. ไนโตรเจน ไตรฟลูออไรด์ (Nitrogen trifluoride) : NF3 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ อยู่ในกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์หรือวงจรขนาดเล็ก สามารถส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 17,400 เท่า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)