“ต้นไม้” เป็นสิ่งที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มออกซิเจนให้กับอากาศบนโลกใบนี้ ซึ่งเมื่อต้นไม้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงแล้ว จะนำคาร์บอนฯ ที่ได้ไปเก็บไว้ตามส่วนต่างๆ ของต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นลำต้น กิ่ง ใบ หรือแม้กระทั่งราก โดย “ต้นไม้” 1 ต้นนั้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัม/ปี ทั้งยังช่วยดักจับฝุ่นและมลพิษในอากาศ ได้ 1.4 กิโลกรัม/ปี ซึ่งศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนฯ ของต้นไม้นั้น ขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตของต้นไม้ และปัจจัยแวดล้อม หากปลูกบนพื้นที่ที่เหมาะสมกับชนิดของพืชนั้นๆ ก็จะทำให้ต้นไม้กักเก็บคาร์บอนฯได้ดีและยังสามารถนำมาแลกเปลี่ยนเป็นคาร์บอนเครดิตอีกด้วย โดย ปัจจุบันราคา “คาร์บอนเครดิต” อยู่ที่ 120 บาท/ตัน
คาร์บอนเครดิตคืออะไร ?
คาร์บอนเครดิต คือศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศของโลก มาคำนวนเป็นค่าเครดิต ให้สามารถซื้อ-ขายได้เหมือนเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง โดยหนึ่งเครดิตเท่ากับการสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน เพื่อขายให้กับประเทศพัฒนาแล้วประเทศอุตสาหกรรม หรือแม้แต่เอกชนบางราย โดยประเทศหรือหน่วยงานเหล่านี้จะซื้อ Carbon Credit ไป เพื่อใช้ขยายขอบเขตหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง และคาร์บอนเครดิต จะมีส่วนสำคัญในการทำธุรกิจในอนาคตเป็นอย่างมาก และเป็นเทรนด์ที่ทุกภาคส่วนกำลังมุ่งไป
สำหรับต้นไม้ 58 ชนิดในไทยที่นำมาคำนวณแลกเปลี่ยนเป็นคาร์บอนเครดิต ได้ ประกอบด้วย
1.ตะเคียนทอง 2.ตะเคียนหิน 3.ตะเคียนชันตาแมว 4.ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา) 5.สะเดา 6.สะเดาเทียม 7.ตะกู 8.ยมหิน 9.ยมหอม 10.นางพญาเสือโคร่ง 11.นนทรี 12.สัตบรรณ 13.ตีนเป็ดทะเล 14.พฤกษ์ 15.ปีบ 16.ตะแบกนา 17.เสลา 18.อินทนิลน้ำ19.ตะแบกเลือด 20.นากบุด 21.ไม้สัก 22.พะยูง 23.ชิงชัน 24.กระซิก 25.กระพี้เขาควาย 26.สาธร 27.แดง 28.ประดู่ป่า 29.ประดู่บ้าน 30.มะค่าโมง 31.มะค่าแต้ 32.เคี่ยม 33.เคี่ยมคะนอง 34.เต็ง 35.รัง 36.พะยอม 37.ไม้สกุลจำปี (จำปีสิรินธรจำปีป่าจำปีถิ่นไทย จำปีดง จำปีแขก จำปีเพชร) 38.แคนา 39.กัลปพฤกษ์ 40.ราชพฤกษ์ 41.สุพรรณิการ์ 42.เหลืองปรีดียาธร 43.มะหาด 44.มะขามป้อม 45.หว้า 46.จามจุรี 47.พลับพลา 48.กันเกรา 49.กะทังใบใหญ่ 50.หลุมพอ 51.กฤษณา 52.ไม้หอม 53.เทพทาโร 54.ฝาง 55.ไผ่ทุกชนิด 56.ไม้สกุลมะม่วง 57.ไม้สกุลทุเรียน 58.มะขาม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมประชาสัมพันธ์