วันอังคาร, 17 กันยายน 2567

ร้อนทะลุ-โลกเดือด“เอลนีโญ” ถึง “ลานีญา” ถล่มประเทศไทย🔥🌎

07 พ.ค. 2024

      ร้อนทะลุ-โลกเดือด🌎🔥 “เอลนีโญ” ถึง “ลานีญา” ถล่มประเทศไทย
อุณหภูมิที่พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ได้สร้างผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำภายในประเทศอย่างเห็นได้ชัด โดยอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางมีอัตราการระเหยของน้ำอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างลดลง ขณะที่ไม่มีฝนตกมาเติมน้ำในอ่าง โดยสถานการณ์นี้เกิดขึ้นมาตลอดเดือนเมษายนและจะต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หรือจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว

     ซึ่งในส่วนของประเทศไทยระหว่างปี 2566 จนถึงเดือนเมษายน 2567 ยังอยู่ในช่วงของสภาวะการเกิดปรากฏการณ์ฝนน้อย-น้ำน้อย หรือ “เอลนีโญ” อุณหภูมิในประเทศ “สูงกว่า” ปีปกติประมาณ 1-1.5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ ผลจากการตรวจวัดอุณหภูมิผิวทะเลกว่า 200 จุด และจากการวิเคราะห์พยากรณ์โดยใช้แบบจำลองมากกว่า 30 แบบ โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NAAA ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 พบว่า มีโอกาส 85% ที่สภาพภูมิอากาศจะเข้าสู่สภาวะปกติ (เป็นกลาง) ในระหว่างช่วงเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน แต่เป็น “ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ” และมีโอกาสถึง 60% ที่จะเข้าสู่สภาวะฝนมาก-น้ำมาก หรือ “ลานีญา” ในระหว่างช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป

     จากสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยเคยมีอากาศร้อนมาก อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 44.5 องศาเซลเซียส ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน แต่เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 และที่ อ.เมือง จ.ตาก ในวันที่ 15 เมษายน 2566 ดังนั้นในปีนี้ จึงมีการคาดการณ์กันว่า อุณหภูมิสูงสุดจะขึ้นไปถึง 45 องศาเซลเซียส ส่งผลให้แหล่งเก็บน้ำทั่วประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ประจำหมู่บ้านต่าง ๆ จะมีการระเหยของน้ำมาก และน้ำในอ่างจะแห้งลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.prachachat.net/economy/news-1556206