วันศุกร์, 20 กันยายน 2567

📌ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาที่ทุกคนมองข้าม📌

11 ต.ค. 2023

วันนี้แอดมินนำสาระความรู้เกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์มาฝากเพื่อนๆค่ะ 👇👇
📌ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ต้องการใช้แล้ว ล้าสมัยหรือชำรุดเสียหายไม่ต้องการซ่อมแซม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ถ่านแบตเตอรี่ หลอดไฟ เป็นต้น

📌ขยะอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งออกเป็น 10 ประเภท ดังนี้
>> เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ภายในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องล้างจาน
>> เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กภายในครัวเรือน เช่น เครื่องดูดฝุ่น เตารีด เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องเป่าผม มีดโกนไฟฟ้า
>> อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เครื่องสแกนเอกสาร โทรสาร โทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ
>> เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคภายในบ้าน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพ เครื่องเล่นดนตรีไฟฟ้า
>> อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น หลอดไฟประเภทต่าง ๆ
>> เครื่องมือไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สว่านไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า จักรเย็บผ้าไฟฟ้า
>> ของเล่นหรืออุปกรณ์กีฬาที่ใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องเล่นเกมส์ ลู่วิ่งไฟฟ้า
>> อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์
>> เครื่องมือตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น เครื่องตรวจจับควัน เครื่องควบคุมอุณหภูมิ แผงควบคุมต่างๆ
>> เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เช่น ตู้ ATM เครื่องจำหน่ายเครื่องดื่ม

🔴ผลกระทบจากขยะอิเล็กทรอนิกส์🔴
เนื่องจากส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์มีสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถจำแนกสารอันตรายที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้ได้ ดังนี้
📍ตะกั่ว เป็นส่วนประกอบในการเชื่อมโลหะแผ่นวงจรพิมพ์ หลอดภาพรังสีแคโทด (CRT) เป็นต้น โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไปทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ระบบโลหิต การทำงานของไต การสืบพันธุ์ และมีผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก และทำลายระบบประสาท ระบบเลือด และระบบสืบพันธุ์ในผู้ใหญ่
📍แคดเมียม มักพบในแผ่นวงจรพิมพ์ ตัวต้านทาน และหลอดภาพรังสีแคโทด เป็นต้น ซึ่งสารนี้จะสะสมในร่างกายโดยเฉพาะที่ไตทำลายระบบประสาทส่งผลต่อพัฒนาการและการมีบุตร หรืออาจมีผลกระทบต่อพันธุกรรม
📍ปรอท มักพบในตัวตัดความร้อน สวิตซ์ และจอแบน โดยจะส่งผลในการทำลายอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งสมอง ไต และเด็กในครรภ์มารดาได้ และถ้าลงสู่แหล่งน้ำจะเปลี่ยนรูปเป็น Methylated Mercury และตกตะกอน ซึ่งสะสมในสิ่งมีชีวิตได้ง่าย
📍โครเนียมเฮกซาวาแลนท์ ใช้ในการป้องกันการกัดกร่อนของแผ่นโลหะเคลือบสังกะสี ซึ่งสามารถผ่านเข้าสู่ผนังเซลล์ได้ง่ายจะส่งผลในการทำลายดีเอ็นเอและเป็นสารก่อมะเร็งสำหรับมนุษย์
📍บริลเลียมใช้ในแผนวงจรหลักเป็นการก่อมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งปอดโดยผู้ที่ได้รับสารนี้อย่างต่อเนื่องจากการสูดดมจะกลายเป็นโรค Beryllicosis ซึ่งมีผลกับปอดหากสัมผัสก็จะทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังอย่างรุนแรง
📍สารหนู ใช้ในแผงวงจร ซึ่งทำลายระบบประสาท ผิวหนังและระบบการย่อยอาหาร หากได้รับปริมาณมากอาจทำให้ถึงตายได้
📍แบเรียม ใช้ในแผ่นหน้าของหลอดรังสีแคโทด ซึ่งเป็นสารที่มีผลต่อสมอง ทำให้สมองบวม กล้ามเนื้ออ่อนล้า ทำลายหัวใจ ตับ และม้าม
📍ตัวทนไฟทำจากโบรมีน ใช้ในกล่อง พลาสติกของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจร ซึ่งเป็นสารที่มีพิษและสามารถสะสมได้ในสิ่งมีชีวิต และสารก่อให้เกิดมะเร็งทำลายการทำงานของตับ มีผลกระทบต่อระบบประสาท และภูมิต้านทาน ทำให้การทำงานของต่อไทรอยด์ผิดพลาด รวมถึงระบบต่อมไร้ท่อสามารถสะสมในน้ำนมของมนุษย์
เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับความรู้ที่แอดมินนำมาฝาก เพื่อนๆทราบผลกระทบจากขยะอิเล็กทรอนิกส์กันแล้วใช่มั้ยคะ ซึ่งเป็นปัญหาที่เราทุกคนไม่ควรมองข้ามกันเลยค่ะ
แอดมินอยากให้เพื่อนๆตระหนักถึงการคัดแยกขยะก่อนทิ้งนะคะ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาต่อตัวเราและโลกของเราค่ะ🌎♻

ทางแผนก EM ฝากเพื่อนๆติดตามข่าวสารและสาระความรู้กันด้วยนะคะโดยแอดมินจะนำสาระดีๆมาฝากเพื่อนๆกันทุกสัปดาห์เลยค่ะ 🙇‍♀️🙇‍♀️